การอาบน้ำศพ
การอาบน้ำศพ ถือเป็นเรื่องภายในครอบครัว ระหว่างญาติมิตรที่สนิท ไม่นิยมเชิญบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นการอาบน้ำชำระร่างกายศพจริง ๆ โดยการอาบน้ำอุ่นก่อนแล้วค่อยอาบด้วยน้ำเย็นฟอกด้วยสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด
เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้วให้เอาน้ำขมิ้นทาตามร่างกายตลอดถึงฝ่าเท้า แล้วประด้วยน้ำหอม จากนั้นก็แต่งตัวให้ศพตามฐานะ เช่น เป็นข้าราชการ ก็นิยมแต่งเครื่องแบบ เป็นต้น เครื่องแต่งตัวนั้นนิยมใช้เสื้อผ้าที่สะอาดและ ใหม่เท่าที่มีอยู่ หลังจากนั้นนำศพขึ้นนอนบนเตียงสำหรับรอพิธีรดน้ำศพตามประเพณีนิยม
การรดน้ำศพ
นิยมจัดตั้งพระประจำวันเกิดของผู้วายชนม์พร้อมจุดธูปเทียนบูชาไว้ด้านศีรษะศพ เพื่อรอการรดน้ำศพจากผู้มาร่วมพิธีรดน้ำศพ ให้ตั้งโดยหันด้านศีรษะศพไปทางโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย ทั้งนี้ห้ามมิให้ผู้ใดเดินผ่านทางด้านศีรษะของศพ เพราะถือว่าเป็นกิริยาอาการที่ไม่แสดงความเคารพต่อศพ
จัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว โดยใช้ผ้าห่มหรือผ้าแพรคลุมตลอดร่างศพ เปิดไว้เฉพาะหน้าและมือขวาของผู้วายชนม์ และจัดมือให้เหยียดออก คอยรับการรดน้ำจากผู้ที่เคารพนับถือ จัดเตรียมขันใส่น้ำอบ และโรยกลีบดอกไม้ไว้ด้านข้าง พร้อมทั้งขันเล็กๆ เพื่อไว้ให้บุตรหลานหรือทายาทตักน้ำให้ผู้ที่มีความประสงค์จะมารดน้ำศพ เพื่อการขมาศพ และจึงจัดเตรียมภาชนะสำหรับรองรับน้ำที่รด จากนั้นก่อนพิธีรดน้ำศพ ควรให้เจ้าภาพจุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงเริ่มพิธีรดน้ำศพ
เมื่อผู้มีเกียรติที่มาแสดงความเคารพศพด้วยการรดน้ำศพหมดแล้ว ถ้าได้รับพระราชทานน้ำอาบศพ ให้เชิญผู้อาวุโสที่อยู่ในที่นั้น เป็นผู้แทนรดน้ำศพพระราชทาน ซึ่งถือเป็นลำดับสุดท้ายของพิธีรดน้ำศพ เมื่อทำพิธีรดน้ำศพพระราชทานแล้วถือเป็นเสร็จพิธีรดน้ำศพ ไม่สามารถให้ผู้หนึ่งผู้ใดรดน้ำศพอีก ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับหน้าที่ดำเนินการนำศพลงหีบ เพื่อกระทำพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
เมื่อนำศพลงโลงหรือโกศแล้ว บางเจ้าภาพจะให้มีการทอดผ้าบังสุกุล (ส่วนใหญ่ จะเป็นผ้าไตรจีวรหรือสบงตามฐานะ) เพื่อให้พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล ซึ่งเรียกว่า บังสุกุลปากหีบ หรือบังสุกุลปากโกศ (ซึ่งจะนิมนต์พระสงฆ์เพื่อการนี้เท่าใดก็ได้ไม่มีกำหนด โดยทั้่วไป 1 รูป แต่ถ้าเป็นพิธีของหลวง มักจะนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป)
เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลเรียบร้อยแล้ว นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 4 รูป สวดพระอภิธรรม ต่อจากพิธีบังสุกุลปากหีบ หรือปากโกศทันที โดยปฏิบัติดังนี้
เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลปากหีบ หรือปากโกศ ลงจากอาสน์สงฆ์แล้ว
พิธีกรตั้งตู้พระธรรม เบื้องหน้าอาสนสงฆ์ของพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
แต่งตั้งเครื่องนมัสการพระธรรม
นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน 4 รูป ขึ้นอาสนสงฆ์
เชิญเจ้าภาพหรือประธานพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระธรรม
พระสงฆ์ จำนวน 4 รูป สวดพระอภิธรรม จำนวน 1 จบ (ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะให้สวดจนครบ 4 จบ ก็ได้) ในกรณีสวด 1 จบ เมื่อได้เวลาสวดพระอภิธรรมตามที่วัดกำหนด จะสวดต่ออีก 3 จบ ก็ทำได้ หรือเจ้าภาพจะให้นิมนต์สวดตามเวลาของวัดก็ย่อมได้เช่นกัน
การจัดสถานที่ตั้งศพ
การจัดสถานที่ตั้งศพนั้น จะต้องประกอบด้วยสถานที่สำคัญและอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับ
พิธีงานศพ ดังนี้
สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย ตั้งไว้ทางด้านศีรษะของศพ
สถานที่ตั้งอาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ตั้งไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา (เว้นไว้แต่สถานที่บังคับไม่อาจจะตั้งอาสน์สงฆ์ไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาได้)
สถานที่ตั้งศพ ให้ตั้งหันด้านศีรษะของศพไปทางโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป
สถานที่ตั้งเครื่องราชอสริยาภรณ์ นิยมตั้งไว้เบื้องหน้าหีบหรือโกศศพ หรือหน้ารูปถ่ายของศพโดยการนำโต๊ะหมู่มาจัดตั้งให้เหมาะสมและสวยงาม
สถานที่ตั้งรูปถ่าย นิยมตั้งไว้ทางด้านเท้าของผู้ตาย
สถานที่ตั้งหรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ให้ศึกษาในพิธีงานอวมงคลตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว
Comments