รับจัดชุดสังฆทาน เครื่องไทยธรรม และผ้าไตรจีวร ถวายพระสงฆ์
top of page

ชวนกันทำบุญ โดย Funeral Plan

สังฆทาน และ เครื่องไทยธรรม

สังฆทาน และ เครื่องไทยธรรม คือ ปัจจัยสี่ ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค รวมถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องที่มีความจำเป็นต่อการอยู่อาศัย และนำมาเตรียมไว้สำหรับถวายพระสงฆ์ตามพิธีทางศาสนาพุทธ โดยนิยมเตรียมไว้เพื่อใช้ในการทำบุญ บำเพ็ญกุศล และตามโอกาสพิธีการต่างๆ เช่น งานทำบุญบ้าน ทำบุญบริษัทฯ งานบวช งานมงคลสมรส พิธีบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ งานสวดพระอภิธรรม และ งานฌาปนกิจ โดยการเตรียมสังฆทาน และ เครื่องไทยธรรม ก็ควรคำนึงถึงคุณภาพ และประโยชน์แก่พระสงฆ์ด้วย

ทำบุญ.png

เราเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ต่อพระภิกษุสงฆ์ และนักบวชในศาสนาพุทธ โดยคำนึงถึงคุณภาพ และความปลอดภัย ด้วยความตั้งใจอย่างพิถีพิถัน บนพื้นฐานของความเหมาะสม

การทำบุญ สร้างกุศลนั้น สามารถทำได้ในหลายลักษณะ ตามเวลา และสถานที่ต่างๆ และการทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน (Offering for Buddhist Monks) หรือ เครื่องไทยธรรมนั้น ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำบุญ สร้างกุศล โดยการทำสังฆทานนี้ จะเป็นการทำบุญกับพระสงฆ์ หรือ นักบวชในศาสนาพุทธ

จัดชุดสังฆทานถวายพระ.jpg

รับจัดของถวายสังฆทาน - เครื่องไทยธรรม

เราคัดเลือกของถวายสังฆทาน ที่คัดสรรมาอย่างดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่พระภิกษุสงฆ์จะได้รับ และผู้นำไปถวายพระจะได้อานิสงส์แห่งบุญนั้น

ของถวายสังฆทาน ที่นิยมจัดเป็นชุดในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

  • หนังสือนักธรรม หนังสือบาหลี เครื่องเขียน เนื่องจากพระภิกษุในปัจจุบัน จะต้องเรียนพระปริยัติธรรม

  • มีดโกน

  • ผ้าไตรจีวร (ผ้ามัสลิน-เหมาะกับประเทศไทย)

  • หนังสือธรรมะ

  • รองเท้าแตะ

  • ยารักษาโรค ยาธาตุน้ำขาว ยาลดไข้

  • ผ้าขนหนูสีสุภาพ

  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ไม้กวาด น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้ถูพื้น

  • แชมพูสูตรดูแลหนังศีรษะสำหรับปลงผม

  • แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เช่น สบู่

  • อาหาร และเครื่องดื่ม เช่น น้ำผึ้ง

 

รับจัดชุดสังฆทาน ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป

โกศ หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา.jpg

รับจัดงานทำบุญอุทิศ 50 วัน /100 วัน

บริการจัดงานทำบุญอุทิศ 50 วัน, 100 วัน ที่ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุ และวัดธาตุทอง รวมถึงจัดงานที่บ้าน(โดยเจ้าหน้าที่วัดธาตุทอง)

บริการจัดหา และผลิต สิ่งของเครื่องใช้ ที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา เริ่มต้นตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป เช่น

  • หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา

  • อาสนะ สำหรับพระภิกษุสงฆ์

  • เครื่องทองน้อย (5", 6", 9")

  • พานแว่น

  • บุษบก

  • ธรรมมาสน์

  • โรงหล่อพระพุทธรูป หรือ ทำเหรียญพระ

  • โกศ บรรจุอัฐิ

  • กระถางธูป แจกัน เชิงเทียน

  • คัมภีร์พระอภิธรรม หนังสือสวดมนต์

  • ชุดตู้พระอภิธรรม

  • กระดิ่ง ฆ้อง

นอกจากนี้ยังให้เราช่วยประสานงานในการจัดพิธีทางพราหมณ์ได้ด้วย

ตัวอย่าง สังฆทาน ผ้าไตรจีวร

    ไอเดีย-ข้อคิด ในการเลือกเครื่องไทยธรรมเพื่อนำไปถวายสังฆทานพระสงฆ์

    หากเราอยากถวายสังฆทานให้ได้อานิสงส์ ให้เป็นสังฆทานที่ถวายนั้นเกิดประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ นอกจากจะต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ทำบุญ ยังควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังเช่น

    1. ทำบุญถวายสังฆทานที่วัดไหนดี ระหว่าง วัดที่เราสะดวกเดินทาง หรือ เสียเวลาไปวัดที่ขาดปัจจัย

    2. ถวายปัจจัยให้วัดไปบริหารจัดการเอง หรือ ตัดสินใจซื้อสิ่งของที่คิดว่าจำเป็นไปถวายแก่วัดเลย อย่างไหนดีกว่ากัน

    3. ในงบประมาณที่มี จะเลือกถวายสังฆทานเน้นจำนวนมากๆ หรือ จำนวนไม่มากแต่เน้นคุณภาพ

    4. เครื่องไทยธรรม หรือ สิ่งของที่ควรนำไปถวายพระสงฆ์มีอะไรบ้าง

    • อาหารสด/อาหารแห้ง และ น้ำดื่ม

    • ผ้าไตรจีวร (อย่างดี)

    • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย เช่น แชมพูสมุนไพร สบู่สมุนไพร ยาสีฟัน แปรงสีฟัน

    • ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยาแก้แพ้ ยาลดไข้แก้ปวด ยาทาแก้คัน ยาหม่อง

    • สิ่งของเครื่องใช้ที่ในชีวิตประจำวัน เช่น รองเท้าแตะ เครื่องเขียน บาตรพระ มีดโกนและใบมีด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน

    • สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นที่เกี่ยวเนื่องกับวัด เช่น ปลั๊กไฟ หลอดไฟ อุปกรณ์ช่าง จาน ชาม ช้อน ส้อม กระบอกน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ทีวี ตู้เย็น  และเงินปัจจัยสำหรับใช้ในกิจของสงฆ์ ช่วยทำนุบำรุงวัด และสำหรับจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

    คำถามที่พบได้บ่อย

    การถวายสังฆทาน สามารถทำที่ไหนได้บ้าง ควรเป็นที่บ้าน หรือ ที่วัด

    การถวายสังฆทานสามารถทำที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนิมนต์พระมาทำบุญที่บ้านแล้วถวายสังฆทาน หรือ จะไปถวายสังฆทานที่วัด ทั้งนี้การถวายสังฆทาน หมายถึงการ ถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง จะต้องไม่เป็นการระบุเฉพาะเจาะจงว่าจะให้พระสงฆ์รูปใดเป็นผู้รับ

    เครื่องไทยธรรม หรือ ไทยทาน คือ อะไร และแตกต่างจากสังฆทานอย่างไร

    เครื่องไทยธรรม หรือ ไทยทาน หมายถึงสิ่งของต่างๆตามปัจจัย 4  รวมถึงสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ที่นำมาถวายพระ ซึ่งคำว่าเครื่องไทยธรรม หรือ เครื่องไทยทานทั้ง 2 คำนี้มักใช้แทนกัน แต่บางท่านจะนำยามคำว่า ไทยทาน หมายถึงสิ่งของที่ถวายพระโดยทั่วไป และใช้คำว่า ไทยธรรม สำหรับเมื่อถวายพระเทศน์ และนอกจากนี้เครื่องไทยธรรมอาจมีความหมายแตกต่างจากสังฆทานในเรื่องของลักษณะในการถวายที่เฉพาะเจาะจง เช่น ถวายเครื่องไทยธรรมโดยจัดเตรียมให้กับพระสงฆ์สำหรับพระที่จะแสดงธรรมเทศนา ในขณะที่สังฆทานจะไม่ระบุว่าจะทำกับพระสงฆ์รูปใด

     

    สรุปคือ เครื่องไทยธรรม (เครื่องไทยทาน) หมายถึงสิ่งของที่นำไปถวายพระสงฆ์ และ สังฆทาน หมายถึงรูปแบบการนำสิ่งของไปถวายพระสงฆ์

    ขั้นตอนการถวายสังฆทาน และคําถวายสังฆทาน กล่าวอย่างไร

    1 คำบูชาพระรัตนตรัย

    อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
    สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ)
    สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ” (กราบ)

     

    2 อาราธนาศีล

    มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
    ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
    ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ

     

    จากนั้นพระจะให้ศีล เราพนมมือกล่าวรับศีลจากพระ

     

    3 บทคำบูชาพระพุทธเจ้า

    นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ  3 จบ

     

    4 คำถวายคำถวายสังฆทาน หรือ เครื่องไทยธรรม

    อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆ
    อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

     

    ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

     

    จากนั้นให้เข้าไปประเคนเครื่องไทยธรรม

     

    5 การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศล

    ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา

     

    คำถวายมตกภัตตหาร (กรณีเพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับไป)

    อิ มานิ มะยัง ภันเต มะตะกะภัตตานิ, สะปริวารานิ, ภิกฺขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภะนเต, ภิกฺขุสังโฆ, อิมานิ, มะตะกะภัตตานิ, สะปริวารานิ, ปฏิคคัณหาตุ, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุ อาทีนัญจะ ญาตะกานํ, กาละกะตานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ

     

    คำแปล

    ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายมตกภัตตาหาร กับทั้งบริวาร เหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับมตกภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้า ทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้นด้วย และอุทิศแด่ผู้ล่วงลับไปแล้วมีนาย…(เอ่ยชื่อ-นามสกุลผู้ตาย) เป็นต้นด้วย สิ้นกาลนานเทอญฯ

    เครื่องทองน้อย คือ อะไร

    เครื่องทองน้อย คือ เครื่องสักการะขนาดเล็กของไทยที่ถูกนำมาใช้ในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล งานรัฐพิธี และงานด้านศาสนา จะประกอบด้วย พานพุ่มดอกไม้ขนาดเล็ก 3 พานพุ่ม, เชิงธูป 1 เชิง, เชิงเทียน 1 เชิง และ พานรองเครื่องทองน้อยทั้งหมด

    สังฆทาน ยา คือ อะไร

    สังฆทาน ยา คือ สังฆทานอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมจัดเตรียมและนำไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ โดยนิยมนำยาสามัญประจำบ้านไปถวาย เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพ และรักษาอาการเจ็บป่วย (อาพาธ) ด้วยตัวเองเบื้องต้น และช่วยลดความรุนแรงของโรค

    สังฆทาน ยา ควรจัดอย่างไร และมียาอะไรบ้าง

    ยาที่นิยมจัดเตรียมและนำไปถวายในชุดสังฆทาน ควรเป็นยาสามัญประจำบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์สามารถดูแลตนเองเบื้องตนได้ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย (อาพาธ) เล็กๆน้อยๆ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมดูวันผลิต วันหมดอายุ รวมถึงสังเกตุ สี หรือ ลักษณะทางกายภาพของยา เพื่อให้มั่นใจว่า ยาที่จะนำไปถวายนั้น มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย หากนำไปใช้ ตัวอย่าง ยาที่นิยมนำไปทำสังฆทาน ได้แก่ 

    ยาใช้ภายนอก เช่น

    • ยาทาแก้ปวด: น้ำมันนวด ยาทาถูนวด ยาหม่อง น้ำมันระกำ พลาสเตอร์บรรเทาปวด

    • ยาทาแก้แพ้ แก้แมลงสัตว์กัดต่อย: ยาหม่อง ยาขี้ผึ้ง ยาทาแก้แพ้

    • ยาใส่แผล: น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ เบตาดีน

    ยารับประทาน เช่น

    • ยาแก้ปวด ลดไข้: พาราเซตามอล

    • ยาแก้แพ้ แก้หวัด: คลอเฟนิรามีน

    • ยาลดกรด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ: ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ยาลดกรดในกระเพาะ ยาขับลม

    • ยาแก้ท้องเสีย: ผงเกลือแร่ ผงถ่าน

    • ยาระบาย: ยาที่ช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุม มะขามแขก

    • ยาแก้เจ็บคอ: ยาอม ยาแก้ไอ

    นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากสมุนไพรอีกหลายชนิด ที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี เช่น ชาสมุนไพรใบหม่อนช่วยลดน้ำตาลในเลือด สมุนไพรบำรุงร่างกายจากเห็ดหลินจือชนิดแคปซูล แคปซูลขมิ้นชัน, กระเทียม, ฯลฯ และวิตามินต่างๆ

    การถวายผ้าไตรจีวรอย่างดี - ผ้าไตรเต็ม หรือ ผ้าไตรครองแบบ 7 หรือ 9 ขันธ์ (ขัณฑ์) คืออะไร

    ผ้าไตร คือ ผ้าที่พระสงฆ์ใช้นุ่งครอง ซึ่งในความหมายของผ้าไตร จะแปลว่า ผ้าสามชิ้น โดยหากพูดถึงผ้าไตรโดยทั่วไปจะหมายถึง 

    1. จีวร (อุตราสงค์) คือผ้าที่พระสงฆ์ใช้สำหรับห่ม หรือผ้าผืนนอก 

    2. สบง )อันตรวาสก) คือผ้าที่พระสงฆ์ใช้สำหรับนุ่ง เป็นผ้านุ่งชิ้นในที่ใช้นุ่งช่วงล่าง เป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยม โดยมากมักจะใช้ผ้าที่หนาและมีความคงทนไม่ขาดง่าย

    3. สังฆาฏิ คือ ผ้าที่พระสงฆ์ใช้สำหรับทาบหรือนุ่งซ้อน หรือพาดบ่า แล้วแต่กิจและวาระตามความเหมาะสม

    ขัณฑ์ คือลักษณะของการตัดเย็บ โดยนำผ้าแต่ละชิ้น มาเย็บเข้าให้เป็นผืนเดียวกัน จำนวนขัณฑ์จึงนับตามจำนวนชิ้นของผ้า ได้แก่ 5 ขัณฑ์, 7 ขัณฑ์, 9 ขัณฑ์

    เครื่องไทยธรรม ชุดสังฆทานยา ผ้าไตรจีวร
    เครื่องไทยธรรม ชุดสังฆทานยา ผ้าไตรจีวรเต

    ขนาดของจีวรที่แนะนำ

    • ความสูงของพระสงฆ์: สูงไม่เกิน 160 ซม.
      ขนาดของจีวร: 190 x 320 ซม.

    • ความสูงของพระสงฆ์: สูง  160 - 170 ซม. 
      ขนาดของจีวร: 200 x 320 ซม.

    • ความสูงของพระสงฆ์: สูง  170 - 180 ซม. 
      ขนาดของจีวร: 210 x 320 ซม.

    • ความสูงของพระสงฆ์: สูงกว่า     180 ซม. 
      ขนาดของจีวร: 220 x 320 ซม.

    ชุดผ้าไตรจีวร สำหรับพิธีทางศานา เช่น งานบวช หรือ งานฌาปนกิจ ควรเลือกสีอะไร

    สีของผ้าไตร สีของจีวร ควรเลือกเป็นสีอะไรนั้น ควรดูสีตามสังกัดของวัดที่จะนำไปถวาย เนื่องจากใช้สีที่แตกต่างกันออกไป โดยสีที่ถูกต้องตามหลักพระวินัยบัญญัติ เช่น สีส้ม(สีเหลืองทอง) สีพระราชนิยม สีแก่นขนุน สีแก่นขนุนเข้ม

    สีของผ้าไตรจีวร

    นอกจากนี้ คุณรู้หรือไม่ว่า กฎหมายมีข้อกำหนดให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

    เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุ หรือห่อหุ้มรวมกันเป็นสินค้าชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม (ชุดไทยทาน) เพื่อขาย และนำไปถวายพระ นำไปทำบุญ ซึ่งสินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้น มีอายุการใช้งาน เมื่อนำมาบรรจุ หรือห่อรวมกันแล้ว ทำให้ผู้ซื้อไม่รู้ว่าสินค้าภายในมีอะไรบ้าง และหมดอายุเมื่อไหร่ นอกจากนี้สินค้าดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากันได้อีกด้วย 


    สินค้าเมื่อหมดอายุ หรือ เกิดปฎิกิริยาเมื่อนำมาไว้รวมกัน อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสี กลิ่น หรือรส จนอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ขายต้องทำฉลากของสินค้าชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรมด้วย เพื่อผู้บริโภคจะได้รู้ถึงรายละเอียดของสินค้าแต่ละชนิด ซึ่งรายละเอียดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้ออกประกาศไว้ มีดังนี้

    1. “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม” หมายถึง สินค้าที่นำมารวมเป็นชุด ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เพื่อขายให้นำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธศาสนา (พระภิกษุสงฆ์)

    2. ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

    3. ให้แสดงฉลากของสินค้าที่เป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน โดยให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ด้วย
      3.1 คำว่า “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม”
      3.2 รายการสินค้าที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้า แต่ละรายการ
      3.3 ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรม
      3.4 วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด
      3.5 วันเดือนปีที่บรรจุ
      3.6 ราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาท

    4. ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรมใด ที่มีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มี สี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เนื่องในการใช้ หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ให้ระบุคำเตือนในฉลากด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น ควรให้ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว

    bottom of page