บทความ - ขั้นตอนการจัดงานศพ สวดอภิธรรม ฌาปนกิจ โดย Funeral Plans
top of page

รับฟรี

แบบฟอร์มและคู่มือในการเตรียมงานศพ

ขอร่วมแสดงความเสียใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และเราจะจัดส่งแบบฟอร์มกลับไปให้อย่างเร็วที่สุด

ขั้นตอนการสวดพระอภิธรรม ในพิธีศพทางศาสนาพุทธ

CR: ธรรมะอินเทรนด์ ร่วมเผยแพร่และแบ่งปันเป็นธรรมทาน

การสวดพระอภิธรรม คืออะไร

การสวดพระอภิธรรมเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย กล่าวคือ เมื่อมีบุคคลใดถึงแก่กรรมผู้เป็นญาติ หรือคนใกล้ชิดจะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมเพื่อบำเพ็ญกุศลให้กับผู้วายชนม์สำหรับผู้สิ้นชีวิตที่มีฐานันดรศักดิ์ชั้นยศ หรืออยู่ในหลักเกณฑ์เทียบเกียรติยศพระราชทานแก่พระศพและศพของสำนักพระราชวัง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษนั้น จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ พระอนุเคราะห์ ในการสวดพระอภิธรรมศพ พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ในงานดังกล่าวนี้เรียกว่า “พระพิธีธรรม” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งเฉพาะพระสงฆ์ในพระอารามหลวง ปัจจุบันนี้มี๑๐ พระอาราม ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์วัดราชสิทธาราม วัดระฆังโฆสิตาราม วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดอนงคาราม วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดประยุรวงศาวาส

การสวดพระอภิธรรมเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนประกอบพิธีกรรมขึ้นเกี่ยวเนื่องกับคนตาย ซึ่งจะกล่าวถึงความหมาย จุดมุ่งหมายของการสวดพระอภิธรรมดังนี้


๑. ความหมายของการสวด คำว่า สวด๑ พจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า หากเป็นคำกริยา หมายถึง การว่าเป็นทำนอง

อย่างพระสวดมนต์ เช่น สวดสังคหะ สวดพระอภิธรรม ถ้าเป็นภาษาพูด จะหมายถึง การนินทาว่าร้าย ดุด่า ว่ากล่าว แต่ในที่นี้จะหมายถึง การสวดของพระสงฆ์ซึ่งหากนำมาใช้ใน การสวดพระอภิธรรม ก็จะหมายถึง การนำเอาธรรมในพระอภิธรรมปิฎกมาสวดในงานศพนั่นเอง


๒. จุดมุ่งหมายของการสวดพระอภิธรรม พอสรุปได้ดังนี้
 

  • เป็นการนำคำสอนในพระอภิธรรม ให้คนที่มีชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

  • เป็นการบำเพ็ญกุศลให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกหลานและญาติมิตร

  • เป็นการสร้างความอบอุ่นใจ และบรรเทาความเศร้าโศกของญาติพี่น้อง

  • เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาและจารีตประเพณีอีกส่วนหนึ่ง

การสวดพระอภิธรรมเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเสียชีวิตลง ผู้ที่เป็นญาติมิตรและผู้คุ้นเคย ก็จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบำเพ็ญกุศลและอุทิศผลบุญนั้นไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ โดยยึดตามนัยแนวทางที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติในคราวเสด็จไป เทศนาพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นหลักปฏิบัติซึ่งถือกันว่าเป็นบุญกุศลอันใหญ่หลวง พิธีสวดพระอภิธรรม จะนิมนต์พระสงฆ์สวด จำนวน ๔ รูป สวดจำนวน ๓ คืน ๕ คืน ๗ คืน หรือตามแต่กำลังศรัทธาของเจ้าภาพนั้น ๆ ตามประเพณีนิยมสวด ๔ จบ โดยใช้พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เป็นบทสวดมาแต่เดิม ในระยะหลัง ๆ การสวดพระอภิธรรมได้พัฒนาออกไปมาก มีการนำเอาบทสวดอื่น ๆ มาใช้สวด เช่น สวดพระอภิธรรมมัตถะสังคหะ สวดพระมาลัย สวดสหัสสนัย สวดแปล เป็นต้น การสวดพระอภิธรรมนี้มีทั้งงานหลวงและงานราษฎร์ทั่ว ๆ ไป แต่งานหลวงนั้นมิได้สวด ๔ จบ เช่นงานราษฎร์ทั่วไป จะนิมนต์พระสงฆ์ ๒ ชุด ผลัดเปลี่ยนเวียนกันสวดไปเรื่อย ๆ ทั้งวันทั้งคืน และ มีทำนองการสวดที่เป็นพิเศษแตกต่างออกไป พิธีสวดพระอภิธรรมที่จัดว่าเป็นงานหลวงอีกประเภทหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์ทรงรับศพของบุคคลต่าง ๆ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์๓-๕-๗ คืน หรือสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พิธีดังกล่าวนี้ มีการสวด ๔ จบเหมือนพิธีของราษฎร์ทั่วไปแต่ทำนองสวดเหมือนการสวดในงานหลวง

พระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมในงานศพต่าง ๆ นั้น สวดในงานของราษฎร์ทั่วไป จะใช้พัดที่เรียกว่า พัดรอง ตั้งสวดทั้ง ๔ รูป ทำนองการสวดก็เป็นทำนองเรียบ ๆ แต่การสวดในงานศพของหลวง หรือสวดในงานพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์และพระอนุเคราะห์ใช้พัดยศที่เรียกว่า พัดพระพิธีธรรม ทำนองที่สวดเป็นทำนองหลวง มีทำนองที่แตกต่างกันไปแต่ละสำนัก พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่สวดพระอภิธรรมในงานพระศพ และสวดงานศพในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์และพระอนุเคราะห์ปัจจุบันนี้เรียกว่า พระพิธีธรรม

พิธีสวดพระอภิธรรม.jpg

การสวดพระอภิธรรมในพิธีการพระศพหรือพิธีงานศพ ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์และพระอนุเคราะห์ จะต้องมีอุปกรณ์ในพิธีโดยเฉพาะ เมื่อได้เห็นอุปกรณ์ในพิธีการก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นพิธีสวดพระอภิธรรมงานศพหลวง อุปกรณ์ต่าง ๆ มีดังนี้
๑) สถานที่นั่งสวด เรียกว่า ซ่าง๑๖ (คดซ่าง คดสร้าง สร้าง ส้าง สำซ่าง) พระแท่นเตียงสวด เตียงสวด อาสน์สงฆ์
๒) ตู้พระธรรม มี๔ แบบ คือ ตู้ทองทึบ ตู้ประดับกระจก ตู้ลายรดน้ำใหญ่และรดน้ำเล็ก
๓) คัมภีร์พระอภิธรรม
๔) พัดยศพระราชาคณะชั้นสามัญยก ใช้ตั้งติดกับตู้พระอภิธรรม
๕) พัดยศพระพิธีธรรม ๔ ด้าม มีสีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว
๖) ที่บูชากระบะมุกสำหรับบูชาพระธรรม

บทความ เกี่ยวกับพิธีศพ

bottom of page